หลักการ ที่มา เหตุผล

ปัจจุบันการเจ็บป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆทั้งจากอุบัติเหตุและจากเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยอันตรายหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน เป็นต้น ทำให้การเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุเป็นสาเหตุการตายลำดับต้น ๆ และเป็นปัญหาสาธารณสุขอย่างมากในประเทศไทย (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2557) ที่ผ่านมาการช่วยเหลือส่วนใหญ่มักไม่ทันการณ์และไม่เหมาะสมตามหลักวิชาการทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตและพิการเพิ่มมากขึ้น มีวิธีการดูแลการเคลื่อนย้ายอย่างผิดวิธี ขาดระบบการนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสม กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายจัดให้มีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นซึ่งทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการหรือภาวะแทรกซ้อนได้ (สุพรรณวดี ภิญโญ, 2554) การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ดีมีการเคลื่อนย้ายที่รวดเร็วและถูกต้องจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการลงได้ (กรองได อุณหสูต, 2549) ซึ่งการพัฒนาระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล (Pre-hospital) ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเรียกใช้ระบบฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม (กิตติพงศ์ พลเสน และคณะ, 2559) อย่างไรก็ตามระบบการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบันได้มีหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในการร่วมดูแลรับผิดชอบหลายส่วนงาน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องทำงานเชื่อมประสานกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีและได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน ตามเป้าหมาย 5 ค. ได้แก่ ความครอบคลุม คล่องแคล่ว ครบพร้อม 24 ชั่วโมง คุณภาพ และคุ้มครอง (ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย และ ภูมินทร์ ศิลาพันธ์, 2556)

จากรายงานสถานการณ์ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 พบว่า ความครอบคลุมบริการการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมร้อยละ 71.80 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมด ซึ่งยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ประชาชนจะได้รับบริการเฉพาะในเขตที่ใกล้โรงพยาบาลและพื้นที่เขตเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดบริการของโรงพยาบาลและมูลนิธิ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบทไม่สามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ และพบว่าประชาชนแจ้งเหตุผ่าน 1669 ร้อยละ 75.82 ของการแจ้งเหตุทั้งหมด เพื่อขอรับความช่วยเหลือและรับคำปรึกษา โดยมีการออกปฏิบัติการฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 ถึง 99,526 ครั้ง หรือร้อยละ 8.57 โดยเมื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินในการสั่งการชุดปฏิบัติการฉุกเฉินของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ส่วนใหญ่เป็นระดับความฉุกเฉินเร่งด่วน รองลงมาเป็นระดับความฉุกเฉินไม่รุนแรง และระดับความฉุกเฉินวิกฤต และพบว่ามีแนวโน้มผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพิ่มมากขึ้น ส่วนข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (การเสียชีวิตก่อนไปถึง รักษาและเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ รักษาและเสียชีวิตระหว่างนำส่ง ปี พ.ศ. 2555 - 2557 ร้อยละ 0.67 - 0.68 ของผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเป็นจำนวนพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิต นอกโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2555, 2556 และ 2557 เสียชีวิตเท่ากับ 7,699 คน, 8,140 คน และ 8,161 คน ตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย และยังพบว่าในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เสียชีวิตก่อนชุดปฏิบัติการฉุกเฉินไปถึงจุดเกิดเหตุ มากกว่าร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการ 19 หมดสติ/ ไม่ตอบสนอง/ หมดสติชั่ววูบ นอกจากนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตในโรงพยาบาลและกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ณิชชาภัทร ขันสาครและคณะ, 2559 ) อย่างไรก็ตามอุปสรรคของบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่จะทำให้เสริมความรุนแรงของปัญหา ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เขตพื้นที่ดูแลที่มีขนาดใหญ่และมีระยะห่างกันมาก ประชาชนในพื้นที่มีทางเลือกอื่นทำให้ไม่มีความจำเป็นในการใช้บริการ ผู้บริหารบางสถานพยาบาลไม่ให้ความสำคัญ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นเชื่อใจในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และไม่มีระเบียบปฏิบัติและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบสำหรับหน่วยงานระดับท้องถิ่น โอกาสของบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ในการจัดการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ของหน่วยงานระดับชาติ การพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ในการจัดการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ของหน่วยงานระดับท้องถิ่น และการเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ (ณิชชาภัทร ขันสาครและคณะ, 2559)

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นควรได้รับการแก้ไข การศึกษาของนริสสา พัฒนปรีชาวงศ์ และคณะ (2555) ได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการบริการแพทย์ฉุกเฉินในภาพรวมได้สรุปได้ดังนี้ หน่วยงานที่เป็นสำนักงานระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินควร ประกอบด้วยผู้บริหารระดับจังหวัด ควรมีการกำหนดทิศทางให้ชัดเจน ควรมีการจัดตั้งทีมงานในการจัดทำแผนเชิงกลยุทธ์ ควรมีการจัดหางบประมาณเพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนอย่างครอบคลุมในระดับท้องถิ่น และผลักดันให้มีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยฉุกเฉินและญาติ การจัดการความรู้ควรมีการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณภาพเพื่อให้เกิดการสะท้อนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล และนำผลที่ได้จากตัวชี้วัดนำเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งควรมีการสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย ควรสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผลิตบุคลากรในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ และสั่งการควรประกอบด้วย ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการควรมีการสนับสนุนสถานที่ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการให้มีพื้นที่พอเพียงในการจัดวางอุปกรณ์สื่อสารและระบบสารสนเทศรวมทั้งสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรในการบริหารจัดการ ควรมีการจัดตั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลระบบสื่อสารภายในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ มีการสำรวจจำนวนอุปกรณ์สื่อสารในการรับแจ้งเหตุและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุให้เพียงพอต่อการใช้งานและมีการสำรองคู่สายโทรศัพท์ให้มากกว่า 2 สายหรือมีรูปแบบการสื่อสารให้หลากหลาย เช่น การรับแจ้งเหตุทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรวัดการวิเคราะห์และการจัดการความรู้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสื่อสารในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ สอดคล้องกับการศึกษาของ ณิชชาภัทร ขันสาครและคณะ, 2559 ที่พบว่า EMS HUB ควรประกอบด้วย 3 ระบบ ที่สำคัญ ได้แก่ ระบบทะเบียนและฐานข้อมูล ระบบภูมิสารสนเทศหรือข้อมูลแผนที่บ้านกลุ่มเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยที่ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำ และหรือจัดทำระบบการแจ้งเหตุจากบ้านผู้ป่วย มีปุ่มสัญญาณฉุกเฉินสำหรับกดแจ้งเหตุที่เชื่อมต่อสัญญาณไปยังหน่วยปฏิบัติการ และระบบการติดตามดูแลต่อเนื่อง พัฒนาแนวทางปฏิบัติและทางข้อตกลงที่ชัดเจนในการดำเนินการดูแลต่อเนื่อง ซึ่งระบบการติดตามดูแลต่อเนื่องนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการการการแพทย์ฉุกเฉิน ดังนั้นจึงต้องมีการบันทึกผลการดำเนินงานเข้าในระบบด้วย และควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการแจ้งเหตุฉุกเฉินให้ทันสมัย สะดวกต่อการใช้งานและเหมาะสมกับบุคคลทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง เช่น Mobile Application, Face book, LINE รวมทั้งควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับอาการฉุกเฉิน การดูแลเบื้องต้น และการแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยประชาสัมพันธ์ออกสื่อต่าง ๆ ในทุกช่องทาง ทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อโปสเตอร์ ในชุมชน หน่วยงานราชการ สถานบริการสุขภาพต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาสถานการณ์และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษานำร่อง พบว่า การจัดบริการฉุกเฉินพบปัญหาหลายด้านทั้งการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาล(Pre-hospital) ได้แก่ การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิตเบื้องต้น การดูแลระหว่างส่งโรงพยาบาล (Inter-hospital) ได้แก่ ระบบการรับส่งผู้ป่วย การติดตามการดูแลผู้ป่วย การรายงานอาการผู้ป่วยระหว่างการรับส่งผู้ป่วย ระบบในโรงพยาบาล (Intra-hospital) ได้แก่ ระบบการบันทึกรายงาน การดึงข้อมูล การสื่อสารกับญาติผู้ป่วยขณะผู้ป่วยยังอยู่ในภาวะวิกฤต นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงและไม่ได้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประชาชนจำนวนมากไม่รู้จักสายด่วน1669 (ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล และคณะ, 2552; จารุวรรณ ธาดาเดช, 2557) จากรายงานผู้ป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์จังหวัดเชียงใหม่พบว่าปี 2561 มีผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินจากโรค จำนวน 40,919 ราย (เฉลี่ย 152 รายต่อวัน) แยกเป็น Trauma 12,908 ราย และ Non Trauma 28,011 ราย เป็นกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน (ESI1-2) 38% เป็นผู้ป่วยกลุ่มไม่ฉุกเฉิน (ESI4-5) 7%และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี (แบบรายงานการตรวจราชการระดับจังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. 2561, 2561) มีจำนวนรถฉุกเฉินจำนวนรวม 216 คัน เป็นรถประเภท Advance Life Support (ALS) จำนวน 39 คัน Basic Life Support (BLS) จำนวน 64 คัน และ First Responder (FR) จำนวน 113 คัน ส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่จะช่วยในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตฉุกเฉินการส่งข้อมูลไปยังสถานที่รับบริการฉุกเฉินปลายทางและระบบการติดตามพิกัดรถฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น เช่น เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator, AED) และพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบวิธีการใช้ และไม่ทราบตำแหน่งหรือสถานที่ติดตั้งเครื่อง AED

จากความสำคัญของปัญหาดังได้กล่าวมาในข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างครบวงจรทั้ง Pre-hospital, Intra-hospital/Inter-hospital และ Post-hospital ให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ระหว่างการนำส่งโรงพยาบาล จนพ้นภาวะฉุกเฉิน อันจะส่งผลถึงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับกว้าง เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย เป็นการขยายบริการห้องฉุกเฉินออกไปนอกโรงพยาบาลเข้าสู่ชุมชนและสามารถเป็นต้นแบบที่ดีและขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

000