ทีมวิจัย SECSI South จัดประชุมวิชาการ เน้นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินแบบครบวงจรในภาคใต้

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ศูนย์วิจัยระบบการป้องกันและดูแลผู้บาดเจ็บและฉุกเฉิน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานประชุมวิชาการ “ก้าวสู่มิติใหม่ของนวัตกรรมบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร ภาคใต้” โดยในงานได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้อง Grand Convention Hall A ชั้น 8 โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ สำหรับกิจกรรมดังกล่าว นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประณีต ส่งวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบบการป้องกันและดูแลผู้บาดเจ็บและฉุกเฉิน และในฐานะหัวหน้าชุดโครงการ SECSI South (Smart Emergency Care Services Integration- South) ซึ่งเป็นโครงการที่รวมทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายหลักที่ทำงานในพื้นที่ได้ร่วมกันออกแบบพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรในภาคใต้ เป็นวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ที่ดำเนินการในพื้นที่เกือบทุกจังหวัดของภาคใต้ ภายในงานได้มีการเสวนาอภิปราย “มุมมองเชิงนโยบาย วิกฤตความเจ็บป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ และสาธารณสุขในมิติใหม่” จากวิทยากรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนระดับภูมิภาคและประเทศ 5 ท่าน เริ่มจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ที่ให้มุมมองเชิงนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาท้าทายของประเทศ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์) ซึ่งเป็นประธานแผนชุดโครงการ SECSI ของประเทศที่ให้แนวคิด ความคาดหวัง และการนำชุดโครงการไปใช้ประโยชน์ในระดับประเทศ รวมทั้ง เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่อธิบายให้ทัศนะภาพกว้างเกี่ยวกับ ทิศทาง และนโยบายระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศและระดับเขตสุขภาพภาคใต้ นอกจากนี้ในเวทีการเสวนาอภิปรายดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจากผู้แทนผู้ตรวจราชการในระดับเขตสุขภาพภาคใต้ คือนายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 12 และนายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านทุติยภูมิและตติยภูมิ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ผู้แทนจากเขตสุขภาพที่ 11 ที่เปิดมุมมองและนโยบายการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของแต่ละเขต ที่ช่วยให้มองเห็นทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณสุขในลักษณะของการบูรณาการเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ โดยมี ดร.นายแพทย์วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย จากมูลนิธิสุขภาพภาคใต้ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้วิทยากรและผู้ร่วมงานได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการ ที่คัดสรรมาจัดแสดงและนำเสนอรูปแบบ/นวัตกรรม/หลักสูตรต้นแบบ/ชุดความรู้ ที่เน้นส่วนสำคัญของผลงานวิจัยที่สามารถนำใช้ประโยชน์ และสะท้อนความสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินแบบครบวงจรในมิติใหม่ โดยแบ่งเป็น 4 โซนคือ 1) โซน Aquatic EMS and EMSPlus 2) โซน Community-based approach for living with COVID-19 3) โซน Innovative approach for injury prevention and trauma care และ 4) โซน Comprehensive emergency care services for older people ซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงเหล่านี้ต่างก็อยู่ภายใต้ชุดโครงการของนักวิจัยในทีม จาก 6 ชุดโครงการหลัก และ 21 โครงการย่อย โดยการนำของหัวหน้าชุดโครงการหลักทั้ง 6 ประกอบด้วย โครงการที่ 1 การพัฒนาระบบการป้องกันอุบัติเหตุโดยมีชุมชนเป็นฐาน: แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ นำโดย นายแพทย์เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา โครงการที่ 2 การพัฒนาต้นแบบหลักสูตรและระบบจัดการภาวะฉุกเฉินทางทะเล นำโดย รองศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ วุฒิสุทธิเมธาวี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการที่ 3 การพัฒนาช่องทางพิเศษในการเข้าถึงบริการและยกระดับศักยภาพเพื่อเสริมระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพชายแดนใต้ นำโดย นายแพทย์รุซตา สาและ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี โครงการที่ 4 การพัฒนาระบบการดูแลภาวะฉุกเฉินในผู้สูงอายุอย่างครบวงจรในพื้นที่ภาคใต้ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลัพณา กิจรุ่งโรจน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการที่ 5 การพัฒนาคุณภาพการดูแลและผลลัพธ์ของการจัดการภาวะฉุกเฉินแบบมุ่งเป้าเฉพาะโรค นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินตนา ดำเกลี้ยง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการที่ 6 การพัฒนาสมรรถนะ มาตรฐาน และระบบการจัดการดูแลแบบชุมชนเป็นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือในภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง นำโดย ดร.วริศรา โสรัจจน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากสิ่งที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับจากการเสวนาและภาคนิทรรศการแล้ว ช่วงบ่ายยังมีการเสวนากลุ่ม ที่เน้นการเปิดรับความเห็นจากผู้เข้าร่วม ซึ่งมาจากทีมสุขภาพและกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชนที่มีเรื่องราว ปัญหาและประสบการณ์ตรงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนเพื่อขยายผลและนำไปสู่โจทย์ปัญหาในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของภูมิภาคหรือประเทศต่อไป

วันที่เผยแพร่
2022-02-18
ผู้เผยแพร่
admin